วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

จักรภพ โพสต์ข้อความ ต้นเหตุทำน้ำท่วมโคราช-จันทบุรี //shared by ศุภรักษ์ เจริญรักษ์

shared by ศุภรักษ์  เจริญรักษ์

จักรภพ โพสต์ข้อความ ต้นเหตุทำน้ำท่วมโคราช-จันทบุรี


จักรภพ ต้นเหตุทำน้ำท่วมโคราช-จันทบุรี  แนะทีมโฆษกฉวยโอกาสอธิบายความให้ชัดเจนถึงสาเหตุของอำนาจที่ถูกกีดกัน
มีรายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (24 ก.ค.) ในหน้าเพจเฟซบุ๊ก ของนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. ได้มีการแสดงความเห็นถึงเหตุการน้ำท่วมในพื้นที่อีสานใต้ และพื้นที่ในภาคตะวันออกของไทย โดยระบุว่า
จักรภพ เพ็ญแข, น้ำท่วมจันทบุรี, น้ำท่วมโคราช, น้ำท่วม 2556
เห็นข่าวน้ำท่วมฉับพลันที่โคราชและจังหวัดอื่นๆ ในเขตอีสานใต้ เลยลงมาจนถึงบางจังหวัดในภาคตะวันออก โดยเฉพาะจันทบุรีและตราด เนื่องมาจากพายุเข้าจนฝนตกต่อเนื่องมาหลายวัน ทำให้ผมนึกถึงอำนาจรัฐที่ถูกจำกัดโดยตุลาการศาลปกครองสูงสุดในเรื่องการจัดการน้ำ
แล้วสะท้อนใจว่านี่แหละสภาพที่แท้จริงของรัฐไทยในปัจจุบัน ที่พยายามยื้อยุดเป็นรัฐบาลกันอยู่ ก็เพื่อตอบโจทย์เล็กๆ ทางการเมืองและแบ่งอำนาจของเจ้าของประเทศเขามาส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง อำนาจรัฐที่มีในมือจึงไม่เพียงพอต่อการทำงานใหญ่ รวมทั้งการวางระบบจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องการทำอะไรหลายอย่าง
ตั้งแต่การสกัดกั้นน้ำเกินไปจนถึงการจัดการน้ำขาด (น้ำท่วม-น้ำแล้ง) รัฐบาลจึงได้แต่ขุดลอกคลองและแหล่งน้ำกระจ๊อกกระแจ๊กไปเรื่อยๆ เหมือนรอเวลาที่จะเกิดเหตุอุทกภัยใหญ่ในเขตเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้งหนึ่ง แล้วค่อยหาทางเอาตัวรอดทางการเมืองกันอีกรอบในตอนนั้น
อย่าลืมนะครับว่าเวลาที่ผู้สั่งการเรื่องน้ำของรัฐไทยเขาให้ลูกสมุนที่ส่งมานั่งคัดท้ายเรืออยู่ในคณะกรรมการระดับชาติ หรือใช้ “มือที่มองไม่เห็น” อื่นๆ ที่อยู่ในกลไกราชการเพื่อบีบบังคับรัฐบาลให้ทำในเรื่องที่เขาต้องการและยับยั้งมิให้ทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องการนั้น รัฐบาลคือผู้รับหน้าเสื่อแทนเขาทั้งหมด
พอประชาชนเกิดเดือดร้อนขึ้นมา เขาไม่ได้มองลึกลงไปถึงสาเหตุเบื้องหลังหรอกครับ พี่น้องเขาซัดรัฐบาลตรงๆ เลยทีเดียว ซึ่งก็ถือว่าเป็นธรรม เพราะรัฐบาลทำท่าใหญ่โตเป็นผู้บริหารประเทศ โดยไม่ส่งสัญญาณเลยสักแอะเดียวว่า ตัวเองได้ถูกยึดอำนาจบริหารรัฐกิจ (ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของอำนาจรัฐ) ไปโดยกลไกแบบตุลาการศาลปกครองสูงสุดไปเรียบร้อยแล้ว
เมื่อไม่รู้จักบ่น ไม่อุทธรณ์ (ต่อสังคม) และไม่อธิบายให้มวลชนทั่วประเทศเข้าใจในเบื้องลึกเบื้องหลัง ปัญหาใดๆ ที่ตัวเขา (เจ้าของประเทศ) เป็นคนก่อขึ้น ก็กลายมาเป็นปัญหาของเรา (รัฐบาลเลือกตั้ง) ไปโดยปริยาย
ผมเสียดายเหตุการณ์แบบนี้ที่รัฐบาลน่าฉวยโอกาสอธิบายความให้ชัดเจนล้วงลึก เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้ว่า รัฐบาลที่เขาเลือกเข้ามาด้วยเสียงข้างมากมีอำนาจเพียงบางส่วนเท่านั้น ในกรณีการจัดการน้ำถึงขนาดไม่เพียงพอต่อการจัดระบบขนาดใหญ่ที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันและอนาคตด้วยซ้ำไป
ในฐานะที่ผมเคยดูแลงานในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและการประชาสัมพันธ์และสื่อของรัฐในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีมาช่วงหนึ่ง ผมขอแนะนำอะไรผ่านไปทางนี้สักนิด เมื่อแรกนึกว่าจะนั่งเฉยๆ เพราะไม่อยากให้เกิดความระคายเคืองในใจว่าไปยุ่มย่ามกับเขา
แต่รัฐบาลในนาทีนี้ได้กลายเป็นเป้าหมายที่ฝ่ายตรงข้ามวางแผนทำลายอย่างเป็นระบบไปแล้ว ถ้าอยู่เฉยก็จะอาจพังกันทั้งหมดได้ สิ่งแรกก่อนที่เราจะประชาสัมพันธ์ หรือใช้สื่อของรัฐทำสิ่งใดก็ตาม เราต้องตรวจสอบก่อนอื่นว่าอำนาจสูงสุดในรัฐบาลที่คอยชี้นำ ทิศทางในเรื่องนี้อยู่ที่ใคร
ดูจากตำแหน่งหน้าที่ก็ไม่แน่นัก บางคนมีตำแหน่งโต้งๆ ว่ากำกับสื่อของรัฐ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ได้กำกับอะไรเลย ยกเว้นแต่ตัวเอง ก็มีบ่อย เราจึงต้องดูบทบาทและอำนาจจริงในรัฐบาลนี้ว่าอยู่ที่ใด ผมคิดว่าศูนย์กลางปัจจุบันในเรื่องนี้คงอยู่ที่ คุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ผู้เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจเหนือกว่าเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหลายคนในช่วงที่ผ่านมา
คุณสุรนันทน์เคยเป็นโฆษกพรรคไทยรักไทยและเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้กำกับสื่อของรัฐมาก่อน ย่อมจะเข้าใจดีว่าต้องสั่งงานอย่างไร ตอนไหน และตรงไหน ผมมั่นใจในแง่นี้อย่างเต็มที่ แต่ปัญหากลับอยู่ที่ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลมากกว่า
รัฐบาลขณะนี้หลอกตัวเองหรือเปล่าก็ไม่รู้ว่า การเมืองไทยอยู่ในสภาพปกติ รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังขับเคลื่อนรัฐนาวาไปได้เรื่อยๆ จนครบวาระและอาจจะได้รับเลือกตั้งใหม่เพื่อต่ออำนาจไป ผมเชื่อว่ามวลชนประชาธิปไตยล้วนอยากบอกว่ารัฐบาลทั้งนั้นว่า เหตุการณ์ในบ้านเมืองไม่เป็นปกติเลยในทุกๆ ด้าน
เพียงจะนิรโทษกรรมให้พี่น้องมวลชนผู้ใช้สิทธิของเขาในการประท้วงตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องคิดนิรโทษกรรมให้แก่ผู้นำหรือแกนนำทางการเมือง ยังเจอทั้งสันดอนและสันดานเผด็จการทั้งที่มาตรงๆ และที่แฝงเร้นอยู่ขนาดนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่กล้าขยับไปวาระสามทั้งๆ ที่เรามีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรโดยอ้างว่ากลัวไปล่มในส่วนของวุฒิสภา
จนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ของเขา) เข้ามายึดอำนาจเรื่องนี้จากเราไป ครั้นจะหันมาทำงาน โดยบอกแบบพระเอกละครไทยว่าขอรับใช้ประชาชนโดยไม่สนใจการเมือง ซึ่งฟังดูดีและเป็นสาระของรัฐบาลประชาธิปไตยอยู่มาก ก็มาเจอกับปัญหาอย่างระบบน้ำและตุลาการศาลปกครองสูงสุด ที่มายึดอำนาจการบริหารงานของเราไปด้วย
เมื่อรัฐบาลทำงานในระดับโครงสร้างของประเทศไม่ได้ แถมอำนาจของประชาชนก็ยังถูกกดขี่จนต่ำเตี้ยกว่าระดับพื้นดิน โดยไม่มีเค้าลางเลยว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อใด นี่คือวิกฤติการณ์แล้วล่ะครับ เพียงแต่มันไม่ได้แสดงตัวปุบปับเหมือนประสบอุบัติเหตุ แต่เริ่มภาวะ “ตายช้า”
นั่นคือเขาเป็นผู้สร้างกรอบหรือกั้นคอกให้รัฐบาลอยู่ในนั้น โดยไม่ยอมให้ขยายอำนาจของรัฐบาล และของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในแง่ใดได้เลย ขณะเดียวกันก็คอยสร้างอุปสรรคในการทำงานจนทำงานไม่ได้ผลลุล่วง เพราะรู้ว่าหากงานการไม่สำเร็จและ ข่าวสารทยอยออกมาในทางลบ
เช่น โครงการรับจำนำข้าว โครงการระบบน้ำ เป็นต้น พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ทั้งที่รักและไม่รักเรา ก็จะเริ่มเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย หงุดหงิด และอาจกลายเป็นความไม่พอใจหรือโกรธแค้นรัฐบาลได้ในที่สุด การต้อนเราให้จนมุมทั้งสองทางนั้นเป็นภาวะที่เราต้องแหวกวงล้อม ออกไปให้ได้
อย่าไปยอมรับ และอย่าถูกหลอกเอาง่ายๆ เสมอว่าเราต้องยอมเพราะกำลัง “หาทางคืนดี” กัน ความขัดแย้งในบ้านเมืองตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นต้นมา ไม่ใช่ความขัดแย้งระดับธรรมดา แต่เป็นความขัดแย้งในผลประโยชน์ที่ขัดกันระหว่างชาวบ้านกับชาวเมือง แม้แต่การเลือกตั้งก็ยังช่วยแก้ไขปัญหาไม่ได้ทั้งหมด
ไม่มีทางที่จะลงเอยกันได้ในสมการปัจจุบัน แต่ต้องเปลี่ยนตัวเลขบางตัวในสมการปัจจุบันเสียก่อนจึงจะแก้ไขได้ ซึ่งเวลาอาจช่วยเราได้ ในระหว่างการรอคอยนี้เอง เราต้องสื่อสารกับมวลชนทั่วประเทศว่า เราเป็นรัฐบาลยามวิกฤติ (crisis government) การทำงานทุกอย่างของรัฐบาลต้องมีลักษณะเร่งรัดและหาทางบังคับผลให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ต้องสร้างความพอใจให้กับประชาชนส่วนใหญ่อย่างรวดเร็ว ต้องชี้ทางแก้ไขวิกฤติการเมืองอย่างรวดเร็ว และอย่าเผลอคิดว่าการอยู่เฉยจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามเขาเฉยตามเราไปด้วย พูดตรงๆ แล้วเราไม่ต้องกลัวความขัดแย้งหรือความร้อนระอุทางการเมืองอีกแล้ว ทำอะไรก็ทำไปเลยครับ ยังไงมันก็ต้องเผชิญหน้ากันอยู่แล้ว
ก็ให้เผชิญหน้าในช่วงที่เรากุมบังเหียนของบ้านเมือง (ถึงแม้จะเพียงส่วนหนึ่ง) เสียเลยอาจจะดีกว่า พูดเช่นนี้อาจจะถูกค่อนว่าซาดิสต์ อยากเห็นบ้านเมืองลุกเป็นไฟหรือ แต่คนที่เขาติดตามเหตุการณ์มาอย่างใกล้ชิดเขาจะรู้ดีว่า ไฟมันไหม้อยู่แล้ว และยังลุกลามอยู่ตลอดเวลาด้วย
เราเสียอีกที่ไม่ยอมเอาน้ำไปดับไฟที่จุดโดยฝ่ายเขา แถมเผลอเอาน้ำไปดับไฟในใจของมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยจนแทบจุดไม่ติดเสียอีก โดยการปะเหลาะว่าสถานการณ์เรียบร้อยดีแล้ว โปรดอย่าเคลื่อนไหวอะไรกันเลย ใกล้ตายขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ค่อยเรียกหากันอีกครั้ง (ฮา)
น้ำท่วมที่อีสานใต้และภาคตะวันออกคราวนี้ รัฐบาลจึงทำอะไรได้น้อยกว่าหน่วยราชการเสียอีก หน่วยราชการปัจจุบันมีระบบงบประมาณที่คล่องตัวกว่าฝ่ายการเมืองมากนะครับ ทำไมไม่แก้ไขตรงนั้นกันก็ไม่รู้ รัฐมนตรีมีอำนาจเป็นเจ้ากระทรวง แต่บางทีก็เหมือนเจว็ด เพราะมีอำนาจด้านเงินทองและระเบียบต่างๆ น้อยกว่าปลัดกระทรวงและอธิบดีเสียอีก
ไม่ต้องพูดถึงองค์กรอิสระของรัฐ ซึ่งเหมือนกับดวงดาวที่โคจรรอบโลกได้โดยไม่อยู่ในแรงดึงดูดของใครเลย ทั้งหมดนี้แสดงความเลอะเทอะของระบบไทยทั้งนั้น
คนเก่งๆ มีก็เอามาใช้ทำงานในเรื่องนี้หน่อยครับ ให้มันรู้ไปว่าพอไม่มีคนอย่าง วิษณุ เครืองาม และ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่คอยเอาใจฝ่ายอำมาตย์ศักดินาและฝ่ายประชาชนไปพร้อมกันแล้ว รัฐบาลถึงกับหาอำนาจรัฐไม่เจอเอาเลยทีเดียว.
แท็ก : จักรภพ เพ็ญแขน้ำท่วม 2556น้ำท่วมจันทบุรีน้ำท่วมโคราช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น